รายละเอียด
สิทธิของผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่ผู้ป่วยเป็นผู้รับบริการทางด้านสุขภาพ ในสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้รับรองสิทธิของผู้ป่วยไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2550 จึงถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทยทุกคน นอกจากนี้การจัดทำบริการสุขภาพในด้านต่างๆมีเป็นจำนวนมากทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐและดำเนินการโดยภาคเอกชน ดังนั้นเพื่อให้การจัดทำบริการเป็นไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพื่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนจึงต้องมีการออกกฏหมายมาควบคุมตรวจสอบการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน ในปัจจุบันประเทศไทยต้องการองค์ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้ป่วยและการจัดทำบริการด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น แต่ตำราทางกฏหมายในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นตำราทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ตำราเล่มนี้จึงเน้นศึกษากฎหมายว่าด้วยสิทธิของผู้ป่วยในฐานะที่เป็นผู้รับบริการทางด้านสุขภาพทั้งสิทธิของผู้ป่วยก่อนเข้ารับบริการ ระหว่างรับบริการ และหลังรับบริการทางด้านสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็มุ่งศึกษาถึงกฎหมายว่าด้วยการจัดทำบริการทางด้านสุขภาพทั้งในเชิงนโยบาย หลักการพื้นฐาน องค์กรของรัฐในฐานะที่เป็นผู้มีหน้าที่หลักในการจัดทำบริการสุขภาพ และองค์กรเอกชนในฐานะที่เป็นผู้มีหน้าที่เสริมในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน ตำรานี้มุ่งเน้นการศึกษาในเชิงนิติศาสตร์ (Legal Approach) เป็นสำคัญ โดยรวบรวมองค์ความรู้และนำเสนอโดยอธิบายเนื้อหาสาระสำคัญของหลักการและกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและสอดแทรกตัวอย่างและคำพิพากษาสำคัญที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังได้วิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายในบางประเด็นไว้อีกด้วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับนักกฎหมายและผู้ที่สนใจทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข